ระเบียบข้อบังคับสมาคม
 
หมวดที่ 1
 

บทความทั่วไป

ข้อ 1. ชื่อของสมาคมการค้า
            สมาคมการค้านี้ชื่อว่า “สมาคมธุรกิจไม้ยางพาราไทย” ชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า “THAI HEVEA WOOD ASSOCIATION”  ชื่อย่อ  T.H.A.   คำว่า “สมาคม” ต่อไปในข้อบังคับนี้ให้หมายถึง “สมาคมธุรกิจไม้ยางพาราไทย”

ข้อ 2. สำนักงานของสมาคม  
           สำนักงานของสมาคมนี้ ตั้งอยู่ ณ ชั้น 3 อาคารศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 11 เลขที่ 165 ถนนกาญจนวนิช ต.น้ำน้อย อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110

ข้อ 3. ตราของสมาคม มีเครื่องหมายเป็นรูปดังนี้

Logo TPA

           อักษรภาษาอังกฤษ T.H.A. เขียนทับด้านหน้าต้นยางพารา 9 ต้น
           และข้อความภาษาอังกฤษ “THAI HEVEA WOOD ASSOCIATION” อยู่ข้างล่างนี้

           ความหมาย  ( จากภาพตราสมาคม )

  • T.H.A.  
  • รูปฟอร์มต้นยาง 
  • จำนวน 9 ต้น 
  • สีเขียวอ่อนและเขียวแก่ 
  • โทนสีที่ลดหลั่น 
  • เส้นตรง เส้นเฉียง และมุม

แสดงถึง   อักษรย่อสากลขององค์การ
แสดงถึง   สัญลักษณ์แทนผู้ประกอบการอุตสาหกรรมยางพารา
แสดงถึง   ความสามัคคี  ความก้าวหน้า  ส่วนรวม
แสดงถึง   การแตกผลิของใบไม้  ธรรมชาติ  ความเจริญ
แสดงถึง   เจตนารมณ์อันต่อเนื่อง
แสดงถึง   ธุรกิจและเทคโนโลยีที่เข้มแข็ง

 
หมวดที่ 2
 

วัตถุประสงค์

ข้อ 4. วัตถุประสงค์ของสมาคม  สมาคมนี้มีวัตถุประสงค์ดังต่อไปนี้

  1. เป็นศูนย์กลางการพบปะ หารือ แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น ความรู้ ข่าวสาร ข้อมูล และปัญหาการ   ประกอบการ   ธุรกิจไม้ยางพารา
  2. เป็นตัวแทนผู้ประกอบธุรกิจไม้ยางพารา ในการประสานนโยบายและดำเนินงานระหว่างรัฐและเอกชน
  3. ศึกษาและหาทางแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจไม้ยางพารา
  4. ส่งเสริม สนับสนุนการศึกษา วิจัย วิเคราะห์ อบรม เผยแพร่วิชาการและเทคโนโลยีให้กับสมาชิก
 
 
หมวดที่ 3
 

สมาชิกและสมาชิกภาพ

ข้อ 5.  ประเภทสมาชิก
             สมาชิกของสมาคม แบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ

  1. สมาชิกสามัญ ได้แก่ บุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลที่ประกอบวิสาหกิจประเภทเกี่ยวกับวัตถุดิบการแปรรูป การผลิตภัณฑ์ไม้ยางพารา และธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมไม้ยางพารา ซึ่งจดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย
  2. สมาชิกวิสามัญ ได้แก่ บุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลที่จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายแล้ว
  3. สมาชิกกิตติมศักดิ์ ได้แก่ บุคคลธรรมดาที่ทรงคุณวุฒิ หรือบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลที่มีอุปการะคุณแก่สมาคม ซึ่งคณะกรรมการของสมาคมมีมติให้เข้าเป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์ และบุคคลนั้นตอบรับคำเชิญ

ข้อ 6.  คุณสมบัติของสมาชิก
             สมาชิกของสมาคมการค้า นอกจากคุณสมบัติตามข้อ 5 แล้ว ยังต้องประกอบด้วยคุณสมบัติดังต่อไปนี้
             (1)  ในกรณีที่เป็นบุคคลธรรมดา
                     1.  เป็นผู้บรรลุนิติภาวะแล้ว
                     2.  ไม่เป็นบุคคลล้มละลาย บุคคลไร้ความสามารถ หรือบุคคลเสมือนไร้ความสามารถ
                     3.  ไม่เคยเป็นบุคคลที่เคยต้องโทษจำคุกพิพากษาถึงที่สุดของศาลมาก่อน   เว้นแต่ความผิดลหุโทษ หรือความผิดซึ่งกระทำโดยประมาท
                     4.  ไม่เคยเป็นโรคอันพึงรังเกียจแก่สังคม

             (2)  ในกรณีที่เป็นนิติบุคคล
                     1. ไม่เป็นบุคคลล้มละลาย ให้นำความข้อ 6 (1) มาใช้บังคับแก่คุณสมบัติของผู้แทนนิติบุคคล ที่ได้รับแต่งตั้งให้มีอำนาจกระทำการแทนนิติบุคคลที่เป็นสมาชิกตามข้อ 10 ด้วย

ข้อ 7.  การสมัครเข้าเป็นสมาชิก
            ผู้ที่ประสงค์เข้าเป็นสมาชิกสามัญ หรือสมาชิกวิสามัญของสมาคม จะต้องยื่นความจำนงต่อเลขาธิการตามแบบพิมพ์ที่สมาคมได้กำหนดไว้ โดยมีสมาชิกสามัญเป็นผู้รับรองอย่างน้อย 1 คน

ข้อ 8.  การพิจารณาคำขอสมัครเข้าเป็นสมาชิก
            ให้เลขาธิการนำใบสมัครเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการสมาคม เมื่อคณะกรรมการสมาคมมีมติให้รับหรือไม่รับผู้ใดเข้าเป็นสมาชิกแล้ว ให้เลขาธิการส่งหนังสือ แจ้งให้ผู้สมัครผู้นั้นทราบ ภายในกำหนดเวลา 15 วัน นับแต่วันที่ได้ลงมติ

ข้อ 9. วันเริ่มสมาชิกภาพ  สมาชิกภาพเริ่มตั้งแต่วันที่คณะกรรมการมีมติรับเข้าเป็นสมาชิก

ข้อ 10.  สมาชิกภาพที่เป็นนิติบุคคล
               สมาชิกที่เป็นนิติบุคคลจะต้องแต่งตั้งผู้แทน ซึ่งจะต้องเป็นบุคคลธรรมดาที่มีอำนาจกระทำแทนนิติบุคคลนั้นได้ 1 คน เพื่อปฏิบัติกิจการในหน้าที่ และใช้สิทธิแทนนิติบุคคลนั้นในการนี้ผู้แทนจะมอบหมายให้บุคคลอื่นกระทำแทน หรือแต่งตั้งตัวแทนช่วงมิได้

ข้อ 11. การขาดจากสมาชิกภาพ   สมาชิกภาพย่อมสิ้นสุด ในกรณีดังต่อไปนี้

  1. ตาย หรือสิ้นสภาพนิติบุคคล
  2. ขาดคุณสมบัติตามข้อ 5.1 หรือ 5.2 แล้วแต่กรณี
  3. ลาออก โดยยื่นหนังสือลาออกต่อคณะกรรมการ และคณะกรรมการเห็นชอบ
  4. ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้เป็นบุคคลล้มละลาย
  5. ถูกศาลสั่งให้เป็นบุคคลไร้ความสามารถ หรือบุคคลเสมือนไร้ความสามารถ
  6. ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุก เว้นแต่เป็นความผิดลหุโทษ หรือความผิดที่กำหนดโทษขั้นลหุโทษ หรือความผิดที่ได้กระทำโดยประมาท
  7. คณะกรรมการของสมาคมลงมติให้ลบชื่อออกจากทะเบียนสมาชิก โดยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 ของจำนวนกรรมการทั้งหมด ด้วยเหตุใดเหตุหนึ่ง ดังต่อไปนี้
    7.1   เจตนากระทำการใด ๆ ที่ทำให้สมาคมเสื่อมเสียชื่อเสียง
    7.2   เจตนาละเมิดข้อบังคับ
    7.3   ไม่ชำระเงินค่าบำรุงสมาชิกสมาคมเกินกว่า 1 ปี และได้รับใบเตือนจากเจ้าหน้าที่ครบกำหนดสามสิบวันแล้ว

ข้อ 12.  ทะเบียนสมาชิก
               ให้นายทะเบียนสมาคมจัดทำทะเบียนสมาชิกเก็บไว้ ณ สำนักงานของสมาคมโดยมีรายการตามที่กฎหมายกำหนด

 
หมวดที่ 4
 

ค่าลงทะเบียนและค่าบำรุง

ข้อ 13.  ค่าลงทะเบียน
               1.  สมาชิกสามัญ และสมาชิกวิสามัญ ชำระค่าลงทะเบียนคนละ 5,000 บาท
               2.  สมาชิกกิตติมศักดิ์ ไม่ต้องชำระค่าลงทะเบียน หรือค่าบำรุงอย่างใดอย่างหนึ่งทั้งสิ้น

ข้อ 14.  ค่าบำรุง
               1. สมาชิกสามัญรายปี ชำระค่าบำรุง ปีละ 10,000 บาท
               2. สมาชิกวิสามัญ ชำระค่าบำรุง ปีละ 5,000 บาท

ข้อ 15.  ค่าบำรุงพิเศษ
               สมาคมอาจเรียกเก็บค่าบำรุงพิเศษจำนวนเท่าใดจากสมาชิกได้เป็นครั้งคราว โดยที่ประชุมใหญ่ลงมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 ของจำนวนสมาชิกสามัญที่มาประชุมทั้งหมด

 
หมวดที่ 5
 

สิทธิและหน้าที่ของสมาชิก

ข้อ 16.   สิทธิของสมาชิก

  1. ได้รับความช่วยเหลือและการสงเคราะห์ในเรื่องที่เกี่ยวกับกิจการ อันอยู่ในวัตถุประสงค์ของสมาคมจากสมาคมเท่าที่จะอำนวยได้
  2. เสนอความคิดเห็นหรือให้คำแนะนำต่อสมาคม หรือคณะกรรมการของสมาคมในเรื่องใด ๆ อันอยู่ใน วัตถุประสงค์ของสมาคม เพื่อนำมาซึ่งความเจริญรุ่งเรืองของสมาคมล
  3. ขอตรวจสอบกิจการและทรัพย์สินของสมาคมได้ โดยทำเป็นหนังสือยื่นต่อเลขาธิการ
  4. เข้าร่วมประชุมอภิปราย แสดงความคิดเห็น ซักถามกรรมการเสนอญัตติในการประชุมใหญ่
  5. สมาชิกสามัญเท่านั้น มีสิทธิในการออกเสียงลงคะแนนในที่ประชุม และมีสิทธิได้รับเลือกตั้งเป็นกรรมการ

ข้อ 17.   หน้าที่ของสมาชิก

  1. ต้องปฏิบัติตามข้อบังคับ ระเบียบ คำสั่ง ของสมาคม มติที่ประชุมใหญ่และมติของคณะกรรมการด้วยความซื่อสัตย์โดยเคร่งครัด
  2. ดำรงรักษาเกียรติและผลประโยชน์ส่วนได้ส่วนเสียของสมาคม
  3. ส่งเสริมและสนับสนุนกิจการของสมาคมให้เจริญรุ่งเรืองและมีความก้าวหน้าอยู่เสมอ
  4. ชำระค่าบำรุงให้แก่สมาคมตามกำหนด
  5. ต้องรักษาไว้ซึ่งความสามัคคีธรรม
  6. สมาชิกผู้ใดเปลี่ยน ชื่อ ชื่อสกุล สัญชาติ ย้ายที่อยู่ ย้ายที่ตั้งสำนักงาน เปลี่ยนแปลงประเภทวิสาหกิจ หรือเปลี่ยนผู้แทนนิติบุคคลจะต้องแจ้งให้เลขาธิการทราบเป็นลายลักษณ์อักษรภายในกำหนดเวลา 15 วัน นับแต่วันเปลี่ยนแปลง
 
หมวดที่ 6
 

คณะกรรมการของสมาคม

ข้อ 18.  การเลือกตั้งคณะกรรมการของสมาคม 
               ให้มีคณะกรรมการขึ้นคณะหนึ่งเป็นผู้บริหารให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของสมาคม และเป็นผู้แทนของสมาคมในกิจการอันเกี่ยวกับบุคคลภายนอกประกอบด้วย สมาชิกสามัญซึ่งได้รับเลือกตั้งจากที่ประชุมใหญ่ มีจำนวนไม่น้อยกว่า 7 คน เว้นแต่ที่ประชุมใหญ่ครั้งนั้น ๆ จะมีมติเป็นอย่างอื่น
               การเลือกตั้งกรรมการให้กระทำด้วยวิธีลงคะแนนลับ โดยให้สมาชิกสามัญ หรือสมาชิกวิสามัญเสนอชื่อของสมาชิกสามัญ ซึ่งตนประสงค์จะให้เข้าสมัครรับเลือกตั้งเป็นกรรมการต่อที่ประชุมใหญ่ โดยมีสมาชิกสามัญอื่นรับรองไม่น้อยกว่าหนึ่งคน แล้วให้ที่ประชุมใหญ่ลงมติเลือกตั้ง ให้ผู้ได้รับคะแนนสูงตามลำดับได้เป็นกรรมการตามจำนวนที่กำหนดไว้ในวรรคแรก และตามมติที่ประชุมใหญ่ครั้งนั้น ๆ ถ้ามีผู้ได้คะแนนเท่ากันในลำดับสุดท้ายที่จะได้เป็นกรรการคราวนั้น ให้ที่ประชุมใหญ่ลงมติใหม่ เฉพาะผู้ที่ได้คะแนนเท่ากัน หากปรากฎว่าได้คะแนนเท่ากันให้ใช้วิธีจับสลาก ให้คณะกรรมการเลือกตั้งกันเอง เพื่อดำรงตำแหน่งนายกสมาคม อุปนายก เลขาธิการ เหรัญญิก นายทะเบียน ตำแหน่งละ 1 คน และตำแหน่งอื่น ๆ ตามความเหมาะสมด้วยความเห็นชอบของคณะกรรมการ ที่จะได้กำหนดหน้าที่ตามที่เห็นสมควร
               คณะกรรมการของสมาคม อยู่ในตำแหน่งกรรมการได้คราวละ  2 ปี ทั้งนี้ให้เริ่มวาระตั้งแต่วันที่เลือกตั้ง

ข้อ 19.  การพ้นจากตำแหน่งกรรมการ

  1. ออกตามวาระ
  2. ลาออก โดยคณะกรรมการของสมาคมได้ลงอนุมัติแล้ว เว้นแต่ลาออกเฉพาะตำแหน่งตามข้อ 17 วรรคสาม
  3. ขาดจากสมาชิกภาพ
  4. ที่ประชุมใหญ่มีมติให้ถอดจากการเป็นกรรมการ
  5. เมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์สั่งให้ออก ตามมาตรา 33 แห่งพระราชบัญญัติ สมาคมการค้า พ.ศ.2509
  6. ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติสมาคมการค้า พ.ศ. 2509

ข้อ 20. หากตำแหน่งในคณะกรรมการว่างลงก่อนครบวาระ
               ให้คณะกรรมการที่เหลือแต่งตั้งสมาชิกสามัญขึ้นดำรงตำแหน่งแทน โดยให้อยู่ในตำแหน่งเพียงกำหนดเวลาผู้ซึ่งตนแทน
               กรณีกรรมการพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะก่อนครบกำหนดออกตามวาระ ให้คณะกรรมการชุด ซึ่งพ้นจากตำแหน่งนั้น ดำเนินการจัดประชุมใหญ่สมาชิกเพื่อเลือกตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ขึ้นแทนภายใน 180 วัน ในกรณีนี้ให้นำความ ในข้อ 24 มาบังคับใช้โดยอนุโลม

ข้อ 21. องค์ประชุมในการประชุมของคณะกรรมการ
               กรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่า ครึ่งหนึ่ง ของจำนวนกรรมการทั้งหมด จึงนับได้ว่าเป็นองค์ประชุม

ข้อ 22.  มติของที่ประชุมในการประชุมของคณะกรรมการ
               ให้ถือเอาคะแนนเสียงข้างมาก กรรมการคนหนึ่งมีเสียงหนึ่งเสียงในการลงคะแนน   ถ้าคะแนนเสียงเท่ากันให้ผู้เป็นประธานในที่ประชุมมีคะแนนอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด

ข้อ 23. ประธานในที่ประชุม
               ให้นายกสมาคมเป็นประธานในที่ประชุม  ถ้านายกสมาคมไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ให้อุปนายกปฏิบัติหน้าที่แทน ถ้านายกและอุปนายกไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้ที่ประชุมเลือกกรรมการคนใดคนหนึ้งเป็นประธานในที่ประชุม เฉพาะการประชุมในคราวนั้น

ข้อ 24.  การประชุมคณะกรรมการบริหาร
               ให้มีการประชุมคณะกรรมการบริหารอย่างน้อยเดือนละครั้ง ในกรณีจำเป็น นายกสมาคมหรือกรรมการไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของกรรมการสมาคมจะเรียกประชุมพิเศษขึ้นได้

ข้อ 25. การเข้ารับหน้าที่ของคณะกรรมการ 
               เมื่อมีการเลือกตั้งกรรมการชุดใหม่ ให้คณะกรรมการซึ่งพ้นจากตำแหน่งยื่นจดทะเบียนคณะกรรมการชุดใหม่ต่อนายทะเบียนสมาคมการค้าประจำจังหวัด ภายในสามสิบวันนับแต่วันเลือกตั้ง และส่งมอบหน้าที่ให้คณะกรรมการชุดใหม่ภายในสามสิบวัน นับแต่วันที่นายทะเบียนสมาคมการค้าฯ รับจดทะเบียน
               ในกรณีนายทะเบียนสมาคมการค้าฯ ยังมิได้รับจดทะเบียนคณะกรรมการชุดใหม่ และคณะกรรการที่พ้นจากตำแหน่ง ยังมิได้ส่งมอบหน้าที่ตามวรรคแรก ให้คณะกรรมการที่พ้นจากตำแหน่งนั้น มีอำนาจหน้าที่บริหารกิจการของสมาคมต่อไป จนกว่านายทะเบียนสมาคมการค้าจะจดทะเบียนคณะกรรมการชุดใหม่ และคณะกรรมการชุดใหม่นั้นเข้ารับหน้าที่แทน

ข้อ 26.  อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ

  1. จัดดำเนินงานกิจการของสมาคมให้เป็นไปตามข้อบังคับ
  2. เลือกตั้งคณะกรรมการให้ดำรงตำแหน่งต่าง ๆ ในคณะกรรมการบริหาร
  3. ว่าจ้าง แต่งตั้ง และถอดออก ที่ปรึกษาของคณะกรรมการของสมาคม อนุกรรมการ เจ้าหน้าที่ และพนักงานทั้ง  ปวง เพื่อให้ดำเนินงานของสมาคมเป็นไปโดยเรียบร้อย

ข้อ 27.  อำนาจหน้าที่กรรมการตำแหน่งต่าง ๆ  มีดังนี้

  1. นายกสมาคม 
    มีหน้าที่อำนวยการเพื่อให้การดำเนินการของสมาคมเป็นไปตามข้อบังคับ และระเบียบการในการปฏิบัติงานของสมาคม เป็นผู้ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการ ให้ดำเนินกิจการของสมาคมและเป็นประธานในที่ประชุมคณะกรรมการตลอดจนในที่ประชุมใหญ่

  2. อุปนายก 
    มีหน้าที่เป็นผู้ช่วยเหลือนายกสมาคมในกิจการทั้งปวงอันอยู่ในอำนาจหน้าที่ของนายกสมาคม และเป็นผู้ทำหน้าที่แทนนายกสมาคมเมื่อนายกสมาคมไม่อยู่หรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้

  3. เลขาธิการ  มีหน้าที่ทำการโต้ตอบหนังสือ เก็บรักษาเอกสารต่าง ๆ ของสมาคม เป็นเลขานุการในที่ประชุมคณะกรรมการและที่ประชุมใหญ่ตลอดจนปฏิบัติหน้าที่อื่น ๆ ตามที่คณะกรรมการมอบหมาย

  4. เหรัญญิก  
    มีหน้าที่รักษาและจ่ายเงินของสมาคม ทำบัญชีการเงิน เก็บรักษาและจ่ายพัสดุของสมาคมตลอดจนปฏิบัติหน้าที่อื่น ๆ ตามที่คณะกรรมการมอบหมาย

  5. นายทะเบียน 
    มีหน้าที่เกี่ยวกับการจดทะเบียนสมาชิกและทะเบียนต่าง ๆ อันมิใช่ทะเบียนเกี่ยวกับการเงินของสมาคม ตลอดจนปฏิบัติหน้าอื่น ๆ ตามที่คณะกรรมการมอบหมายภายใต้บังคับแห่งความในหมวดนี้ ให้นำความในหมวดที่ 7 การประชุมใหญ่มาใช้บังคับ โดยอนุโลม
 
หมวดที่ 7
 

การประชุมใหญ่

ข้อ 28.  การประชุมใหญ่  
              ให้คณะกรรมการจัดให้มีการประชุมใหญ่สมาชิกอย่างน้อยทุกระยะเวลาสิบสองเดือน
การประชุมเช่นนี้เรียกว่า การประชุมใหญ่สามัญ
              การประชุมใหญ่คราวอื่นนอกจากการประชุมใหญ่ตามวรรคก่อน เรียกว่า การประชุมใหญ่วิสามัญ

ข้อ 29.  กำหนดการประชุมใหญ่  มีดังนี้

  1. ให้มีการประชุมใหญ่สามัญประจำปี ภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวัน นับจากวันสิ้นปีบัญชีของทุกปี
  2. ถ้ามีเหตุใดเหตุหนึ่ง คณะกรรมการเห็นสมควร หรือสมาชิกมีจำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 4 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดแสดงความจำนง โดยทำหนังสือเป็นลายลักษณ์อักษรยื่นต่อเลขาธิการ ให้คณะกรรมการบริหารนัดประชุมใหญ่วิสามัญภายใน 15 วัน นับแต่วันลงมติหรือวันที่ได้รับคำร้องขอ

ข้อ 30. การส่งหนังสือบอกกล่าวนัดประชุม
               คณะกรรมการจะต้องส่งหนังสือบอกกล่าวถึงวัน เวลา สถานที่และระเบียบวาระการประชุมใหญ่ไปให้สมาชิกทุกคนทราบ ให้ถึงตัวสมาชิกก่อนวันประชุมใหญ่ไม่น้อยกว่า 7 วัน

ข้อ 31. องค์ประชุมในการประชุมใหญ่
              ในการประชุมใหญ่ จะต้องมีสมาชิกสามัญประชุมไม่น้อยกว่า ครึ่งหนึ่ง ของจำนวนสมาชิกทั้งหมด จึงถือว่าเป็นองค์ประชุม

ข้อ 32. กรณีที่การประชุมครั้งแรกสมาชิกมาไม่ครบองค์ประชุม 
               การประชุมใหญ่ที่ได้เรียกนัดประชุม วันและเวลาใด หากล่วงพ้นกำหนดเวลานัดไปแล้ว 1 ชั่วโมง ยังมีสมาชิกมาไม่ครบองค์ประชุม ถ้าการประชุมใหญ่คราวนั้นได้เรียกนัดเพราะสมาชิกร้องขอให้เลิกประชุม ถ้ามิใช่ขอเลื่อนการประชุมคราวนั้นไป และให้ทำการบอกกล่าวนัดประชุมวัน เวลา และสถานที่ใหม่อีกครั้งภายใน 15 วัน นับแต่วันประชุมใหญ่คราวแรก ในการประชุมใหญ่คราวหลังจะมีสมาชิกมากน้อยเพียงใดก็ได้ให้ถือว่าเป็นองค์ประชุม

ข้อ 33. ประธานในที่ประชุม  
               ให้นายกสมาคมเป็นประธานในที่ประชุม ถ้านายกสมาคมไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ด้ให้อุปนายกปฏิบัติหน้าที่แทน ถ้าทั้งนายกและอุปนายกไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ก็ให้ที่ประชุมเลือกกรรมการคนใดคนหนึ่งเป็นประธานในการประชุม เฉพาะการประชุมคราวนั้น

ข้อ 34. วิธีออกเสียงลงคะแนนในที่ประชุมใหญ่
               สมาชิกสามัญเท่านั้นมีสิทธิออกเสียงลงคะแนน และสมาชิกสามัญคนหนึ่ง ๆ มีคะแนนเสียง 1 เสียง การออกเสียงในที่ประชุมใหญ่ให้ถือปฏิบัติ 2 กรณี คือ
               1. โดยวิธีเปิดเผย ให้ใช้วิธีชูมือ
               2.  โดยวิธีลงคะแนนลับ ให้เขียนบัตรลงคะแนน

               และจะกระทำได้เมื่อคณะกรรมการบริหาร หรือสมาชิกไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกที่มาประชุมร้องขอ

ข้อ 35. มติของที่ประชุมใหญ่
               นอกจากที่กล่าวไว้เป็นอย่างอื่นในข้อบังคับนี้ ให้ถือเอาคะแนนเสียงข้างมาก เป็นมติของที่ประชุม ถ้าคะแนนเสียงเท่ากันให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งเสียงเป็นเสียงชี้ขาด

ข้อ 36. กิจการอันพึงกระทำในการประชุมใหญ่สามัญประจำปี มีดังนี้

  1. รับรองรายงานการประชุมใหญ่คราวก่อน
  2. พิจารณารายงานประจำปี ส่งผลการดำเนินงานของสมาคมที่ผ่านมาในรอบปี
  3. พิจารณาอนุมัติงบดุล
  4. เลือกตั้งคณะกรรมการของสมาคม (ในปีที่ครบวาระ)
  5. เลือกตั้งผู้ตรวจสอบบัญชีประจำปี และกำหนดค่าตอบแทน
  6. เรื่องอื่น ๆ (ถ้ามี)
 
หมวดที่ 8
 

การเงินและการบัญชีของสมาคม

ข้อ 37. วันสิ้นปีทางบัญชี  ให้ถือเอาวันที่ 31 ธันวาคมของทุกปี เป็นวันสิ้นปีทางบัญชีของสมาคมการค้า

ข้อ 38. การจัดทำงบดุล  
               ให้คณะกรรมการจัดทำงบดุลปีที่เป็นอยู่ ณ วันสิ้นปีทางบัญชีนั้น แล้วส่งให้ผู้สอบบัญชีไม่เกินเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี และผู้สอบบัญชีจะต้องตรวจสอบให้แล้วเสร็จก่อนวันประชุมใหญ่ประจำปีไม่น้อยกว่าสามสิบวัน
               งบดุลซึ่งผู้สอบบัญชีได้รับรองแล้ว คณะกรรมการต้องดำเนินการเสนอต่อที่ประชุมใหญ่สามัญ เพื่อพิจารณาอนุมัติภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันที่สิ้นปีทางบัญชี
               เมื่อเสนองบดุลให้คณะกรรมการเสนอรายงานประจำปี แสดงผลการดำเนินงานของสมาคมต่อที่ประชุมใหญ่ด้วย
               ให้สมาคมส่งสำเนารายงานประจำปีแสดงผลการดำเนินงานของสมาคมกับงบดุล ไปยังนายทะเบียนสมาคมการค้าประจำจังหวัดภายในสามสิบวัน นับแต่วันที่มีการประชุมใหญ่
               อนึ่ง ให้เก็บรักษารายงานประจำปีแสดงผลการดำเนินงานของสมาคมกับงบดุลไว้ที่สำนักงานของสมาคม เพื่อให้สมาชิกตรวจดูได้

ข้อ 39. อำนาจของผู้ตรวจสอบบัญชี 
               ผู้ตรวจสอบบัญชีซึ่งที่ประชุมใหญ่เลือกตั้งมีอำนาจเข้าตรวจสอบสมุดบัญชี และบรรดาเอกสารเกี่ยวกับการเงินของสมาคม และมีสิทธิสอบถามกรรมการตลอดจนเจ้าหน้าที่ของสมาคมทุกคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับบัญชีและเอกสารการเงิน ต้องเก็บรักษาไว้ ณ สำนักงานของสมาคมและให้อยู่ในความดูแลรับชอบของเหรัญญิก

ข้อ 40. การเงินของสมาคม 
               ให้เหรัญญิกเป็นผู้รับผิดชอบและเก็บรักษาตัวเงินทดรองจ่ายเกี่ยวกับกิจการของสมาคมไม่เกินวงเงิน 10,000 บาท (หนึ่งหมื่นบาทถ้วน)   เงินจำนวนที่เกินกว่านี้ให้นำไปฝากธนาคารในนามสมาคม โดยเห็นชอบของที่ประชุมใหญ่

ข้อ 41. การจ่ายเงินของสมาคม  ให้เป็นไปตามกฎข้อบังคับต่อไปนี้

  1. จำนวนเงินไม่เกิน 5,000 เป็นอำนาจของเหรัญญิก
  2. จำนวนเงินเกิน 5,000 บาท ขึ้นไปแต่ไม่เกิน 10,000 บาท เป็นอำนาจของนายกสมาคม
  3. จำนวนเงิน 10,000 บาทขึ้นไป เป็นอำนาจของคณะกรรมการ
ข้อ 42. อำนาจการสั่งจ่ายเงิน 
               การสั่งจ่ายเงินฝากธนาคาร ให้มีลายมือชื่อของบุคคล 2 คน จาก 3 คน คือ นายกสมาคม อุปนายก เหรัญญิก และต้องประทับตราของสมาคม
 
หมวดที่ 9
 
 

การแก้ไขข้อบังคับ การเลิกสมาคม และการชำระบัญชี

ข้อ 43.  การแก้ไขเปลี่ยนแปลงหรือตัดทอนข้อบังคับ  
               ข้อบังคับนี้จะแก้ไข เปลี่ยนแปลง หรือเพิ่มเติมได้ก็แต่โดยมติของที่ประชุมใหญ่ ซึ่งมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกสามัญที่มาประชุม

ข้อ 44.  การเลิกสมาคม  สมาคมนี้อาจเลิกได้ด้วยเหตุหนึ่งเหตุใดดังต่อไปนี้

  1. เมื่อที่ประชุมใหญ่มีมติให้เลิก ด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 ของจำนวนสมาชิกสามัญทั้งหมด
  2. เมื่อล้มละลาย
  3. เมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์สั่งให้เลิกตามมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติสมาคมการค้า พ.ศ.2509

ข้อ 45. การชำระบัญชี
              เมื่อสมาคมนี้ต้องเลิกไปด้วยเหตุใดเหตุหนึ่งดังกล่าวในข้อ 44. การชำระบัญชีของสมาคมให้นำบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติสมาคมการค้า พ.ศ.2509 มาใช้บังคับ

  • ในกรณีเลิกตามข้อ 44.1  ให้ที่ประชุมใหญ่คราวนั้นลงมติเลือกตั้งกำหนดตัวผู้ชำระบัญชีด้วย
  • หากเลิกตามข้อ 44.2  ให้กรรมการทุกคนในคณะกรรมการของสมาคม ชุดสุดท้ายที่ได้จดทะเบียนเป็นกรรมการของสมาคมต่อนายทะเบียนสมาคมการค้าประจำจังหวัด เป็นผู้ชำระบัญชี  หากมีทรัพย์สินของสมาคมเหลือจากการชำระบัญชี ให้ยกให้แก่นิติบุคคลในประเทศไทยที่มีวัตถุประสงค์เกี่ยวกับการกุศลสาธารณะแห่งหนึ่งแห่งใด หรือหลายแห่งตามมติของที่ประชุมใหญ่
 
หมวดที่ 10
 
 

บทเฉพาะกาล

ข้อ 46.  เมื่อนายทะเบียนสมาคมการค้าประจำจังหวัดได้อนุญาตให้จัดตั้งเป็นสมาคมการค้าแล้ว ให้ถือว่าผู้เริ่มก่อการจัดตั้งทุกคน ทำหน้าที่คณะกรรมการของสมาคมชั่วคราว จนกว่าจะได้มีการเลือกตั้งคณะกรรมการตามข้อบังคับนี้ ซึ่งจะต้องให้มีขึ้นภายในกำหนดเวลาหนึ่งร้อยยี่สิบวัน นับแต่วันที่ได้รับอนุญาตให้จัดตั้งเป็นสมาคมการค้าแล้ว

ข้อ 47. ให้ผู้เริ่มก่อการจัดตั้งทุกคน ทำหน้าที่เป็นสมาชิกสามัญ

ข้อ 48. ให้ใช้ข้อบังคับนี้ตั้งแต่วันที่นายทะเบียนสมาคมการค้าประจำจังหวัด ใด้อนุญาตให้จัดตั้งเป็นสมาคมการค้าเป็นต้นไป

 

 

<< กลับหน้าเกี่ยวกับสมาคม