ด้วยปัจจุบันอุตสาหกรรมเกี่ยวกับไม้ในระดับโลกมีมูลค่าประมาณ 3 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นเงินไทย 3,200 ล้านล้านบาท ในปี 2573 อีก 12 ปีข้างหน้า มูลค่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 100 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ แต่อุตสาหกรรมป่าไม้ของไทยมีส่วนร่วมในตลาดนี้ต่ำมากแค่ร้อยละ 0.01 เท่านั้น
ผศ.ดร.นิคม แหลมสัก คณบดีคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เผยว่า หากเกษตรกรผู้ปลูกไม้โตเร็วในบ้านเรา สามารถเข้าไปมีส่วนร่วมได้มากกว่านี้จะช่วยสร้างรายได้ให้เข้าประเทศไทยอย่างมหาศาล โดยเฉพาะเกษตรกรบ้านเราที่ปลูกไม้โตเร็วและยางพารา ที่มีไม้ยางพาราเป็นจำนวนมากพร้อมขายได้อยู่แล้ว แต่ยังติดปัญหาเรื่องระบบการปลูกไม้ที่จะขายได้ต้องผ่านการรับรองระบบการจัดการสวนป่าตามมาตรฐานการจัดการอย่างยั่งยืน หรือ FSC (Forest Management Certification) จึงอยากให้ภาครัฐเข้ามามีส่วนร่วมช่วยเกษตรกรเร่งรัดการทำระบบ FSC ทุกอย่างจะผ่านไปได้
ด้าน นายมาซามิ นาคาคุโบะ ประธานบริษัท JC Service จำกัด ให้ข้อมูลว่า จากเหตุแผ่นดินไหวและคลื่นยักษ์สึนามิครั้งร้ายแรงในประเทศญี่ปุ่น เมื่อปี 2554 มีผลกระทบต่อโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ ที่เมืองฟุกุชิมะทำให้รัฐบาลญี่ปุ่นปรับเปลี่ยนมาใช้โรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวลแทน มีแผนก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลขนาด 7 กิกะวัตต์ จึงมีความต้องการนำเข้าไม้จากประเทศไทยเป็นจำนวนมาก
ปีที่ผ่านมา มีผู้ประกอบการญี่ปุ่นแสดงความสนใจยื่นขออนุญาตก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลแล้วนับรวมกำลังผลิตได้ 17 กิกะวัตต์ แต่มีปัญหาญี่ปุ่นผลิตไม้ทำเป็นเชื้อเพลิงอัดแท่งได้ไม่เพียงพอต่อความต้องการของโรงไฟฟ้า จึงให้ความสนใจไม้ยางพาราจากไทย สำหรับนำไปผลิตกระแสไฟฟ้าขนาด 1 กิกะวัตต์ ปีละ 10 ล้านตัน โดยใช้ต้นยางที่หมดอายุไม่สามารถให้น้ำยางได้แล้วมาเป็นวัตถุดิบ และหลังจากตัดไม้ยางพาราออกไปแล้ว ยังมีโครงการสนับสนุนให้ปลูกต้นอะคาเซีย (Acacia) ในสวนยางพาราแทน เพราะเป็นไม้โตเร็ว ปลูกแค่ 5 ปี สามารถตัดขายทำเป็นเชื้อเพลิงชีวมวลได้
ที่มา : ไทยรัฐฉบับพิมพ์ วันที่ 18 ม.ค. 2561 (https://www.thairath.co.th/content/1179893) |