ในช่วงปี พ.ศ. 2537- 38 ได้มีการพบปะ พูดคุยและปรึกษาหารือกันของผู้ประกอบการซึ่งส่วนใหญ่มีสถานประกอบการตั้งอยู่ในจังหวัดสงขลา ยะลา พัทลุง นครศรีธรรมราช ถึงปัญหา อุปสรรคต่างๆของการประกอบการด้านอุตสาหกรรมไม้ยางพาราซึ่งมีมากมายโดยเฉพาะ ในภาครัฐซึ่งเน้นนโยบายควบคุม ปราบปรามมากกว่าการพัฒนาส่งเสริม และความไม่ชัดเจนในภาครัฐในองค์กรที่รับผิดชอบโดยตรงทั้งที่อุตสาหกรรมไม้ยางพารามีศักยภาพและความสำคัญที่จะเสริมสร้างเศรษฐกิจและความเข้มแข็งให้กับเกษตรกรชาวสวนยางและภาครัฐ ถึงแม้จะมีการนำเสนอผ่านบางองค์กรก็ยังไม่สามารถแก้ไขได้อย่างจริงจังเนื่องจากขาดตัวแทนซึ่งเป็นแกนนำหลัก จึงได้นำมาสู่การแสดงความคิดเห็นหลายครั้งหลายคราว่าน่าจะมีการรวมกันก่อตั้งองค์กรด้านอุตสาหกรรมไม้ยางพาราโดยตรง จนกระทั่งในปลายปี พ.ศ. 2538 ผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องด้านอุตสาหกรรมไม้ยางพารา จำนวน 18 ราย จากประเภทโรงเลื่อย โรงอบ โรงงานผลิตชิ้นส่วน เครื่องเรือนและเฟอร์นิเจอร์ โรงงานผลิต MDF/Particle Board ผลิตไม้อัด ได้ร่วมกันประชุมหารือและได้มีมติเห็นชอบให้ตั้งเป็นองค์กรใหม่ โดยจดทะเบียนเป็นสมาคม โดยให้ใช้ชื่อ “สมาคมธุรกิจไม้ยางพาราไทย” และเป็นภาษาอังกฤษว่า “The Thai Parawood Association” โดยมี นายวิทยา งานทวี นายกมล พูลสวัสดิ์ และนายปฏิภาณ คชภักดี เป็นคณะกรรมการก่อตั้ง ดำเนินการขอจดทะเบียนสมาคมฯ ต่อสำนักงานนายทะเบียนสมาคมการค้าจังหวัดสงขลา และได้รับการจดทะเบียนในวันที่ 3 มิถุนายน พ.ศ.2539 และมีเลือกตั้งคณะกรรมการชุดแรก โดยมี นายวิทยา งานทวี ได้รับการเลือกตั้งเป็นนายกสมาคมฯ คนแรก และมีคณะกรรมการชุดแรกจำนวน 9 คน จากทุกภาคส่วนของอุตสาหกรรม และครอบคลุมทุกจังหวัดที่เกี่ยวข้อง ได้รับการเอื้อเฟื้อสถานที่จากสภาอุตสาหกรรมจังหวัดสงขลาให้เป็นที่ตั้งสำนักงานที่ชั้น 3 อาคารศูนย์ส่งเสริมอุตสาห กรรมภาคใต้ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา
ในวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2539 ได้มีการจัดงานสถาปนาสมาคมธุรกิจไม้ยางพาราขึ้น ณ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลาได้รับเกียรติจาก ฯพณฯ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ อดีตนายกรัฐมนตรีและรัฐบุรุษ(ในขณะนั้น)เป็นประธานในการสถาปนา มีผู้แทนจากหน่วยงานราชการและภาคเอกชนจากทุกส่วนร่วมเป็นเกียรติ ประมาณ 250 คน
จากปี พ.ศ. 2538 – 2549 (ปัจจุบัน) สมาคมฯได้มีการดำเนินงานในด้านต่างๆ ที่เกิดจากการกำหนดนโยบาย แผนงานและแนวทางการดำเนินงานโดยคณะกรรมการสมาคมฯซึ่งอยู่ในวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ 2 ปี โดยมีนายวิทยา งานทวี เป็นผู้ที่ได้รับการเลือกให้ดำรงตำแหน่งนายกสมาคมฯตั้งแต่ปี พ.ศ. 2539-ปัจจุบันมีคณะกรรมการสมาคมฯรวม 5 สมัย ปัจจุบันมีคณะกรรมการรวมทั้งสิ้น 27 คนที่มาจากเกือบทุกจังหวัดและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องของอุตสาหกรรมไม้ยางพาราที่เป็นสมาชิกของสมาคมฯ ซึ่งคณะกรรมการได้มีการแต่งตั้งคณะที่ปรึกษาซึ่งประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิจากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อให้คำปรึกษาแนะนำและข้อเสนอแนะต่อคณะกรรมการฯ และมีเจ้าหน้าที่สมาคมฯรวม 2 คน
จนถึงปี 2549 ได้มีการขยายฐานสมาชิกจาก 18 รายเป็น 110 ราย จากภาคอุตสาหกรรมการผลิตและแปรรูปไม้ยางพารา ได้ขยายวงกว้างไปสู่องค์กรเกษตรกรชาวสวนยางพาราและธุรกิจเกี่ยวเนื่องเกือบทุกภาคส่วน จากภาคใต้สู่ภาคกลางและภาคตะวันออก ได้มีการดำเนินการในหลายด้านที่มุ่งเน้นไปสู่การส่งเสริมสนับสนุนการเสริมสร้างศักยภาพ ประสิทธิภาพ ขีดความสามารถในด้านต่างๆของสมาชิกและผู้ประกอบการด้านอุตสาหกรรมไม้ยางพาราเพื่อช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และก่อให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมไม้ยางพาราทั้งระบบของไทย ซึ่งประกอบด้วยกิจกรรมต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
- รวบรวมปัญหาอุปสรรคต่างๆในการประกอบการ และหาแนวทางแก้ไขให้แก่สมาชิกและผู้ประกอบการอุตสาหกรรมไม้ยางพารา ได้มีการนำเสนอประเด็นปัญหาด้านกฎหมาย กฎระเบียบที่ล้าสมัยและด้านอื่นๆที่เป็นอุปสรรคต่อการประกอบการด้านการส่งออกและการพัฒนาอุตสาหกรรมต่อทุกรัฐบาล และหน่วยงานภาครัฐทุกหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง
- นำเสนอ ผลักดัน และมีส่วนร่วมต่อภาครัฐให้มีการกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมไม้ยางพาราอย่างครบวงจรอย่างต่อเนื่อง ทำให้มีการกำหนดยุทธศาสตร์ไม้ยางพาราอยู่ในยุทธศาสตร์ยางพาราครบวงจร (2542-2546)
- ร่วมแก้ไขปัญหาของเกษตรกรชาวสวนยางและอุตสาหกรรมไม้ยางพารา เนื่องจากประเทศประสบภาวะวิกฤตทางเศรษฐกิจและรัฐบาลมีปัญหาด้านงบประมาณ โดยการทำโครงการความร่วมมือกับสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยางพาราในปี พ.ศ. 2543 และจัดกิจกรรมผู้ซื้อ-พบผู้ขาย ร่วมกับสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องเรือนไทย
- ให้การส่งเสริม สนับสนุนสมาชิกและผู้ประกอบการในการขยายลู่ทางด้านการตลาดผลิตภัณฑ์ไม้ยางพาราทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยในระหว่างปี พ.ศ. 2538-2549ได้จัดคณะผู้ประกอบการอุตสาหกรรมไม้ยางพาราไปขยายลู่ทางด้านการตลาดและเยี่ยมชมงานแสดงสินค้า ณ ประเทศญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา จีน ไต้หวัน ฮ่องกง สิงคโปร์ มาเลเซีย เป็นต้น
ได้เข้าร่วมโครงการ Thailand Furniture Mart ของกรมส่งเสริมการส่งออก โดยการเช่าพื้นที่เปิดศูนย์จำหน่ายสินค้าของสมาชิกใน Thailand Furniture Mart ในปี 2544-2546 และร่วมออกบูธในงานแสดงสินค้าในประเทศ ในปี พ.ศ. 2545 , 2548
- เผยแพร่ข้อมูล-ข่าวสารที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการประกอบการและการพัฒนาอุตสาหกรรมไม้ยางพาราทั้งระบบ โดยผ่านทางสื่อสิ่งพิมพ์ และสื่ออิเลคโทรนิกส์
- ให้การสนับสนุนการจัดทำระบบมาตรฐานต่างๆ ปรับปรุง พัฒนาด้านต่างๆแก่สมาชิกอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ การจัดทำ 5 ส. ISO 9000 , 14000 เป็นต้น
- เผยแพร่ ประชาสัมพันธ์ จัดทำแผ่นพับเพื่อสร้างภาพลักษณ์ไม้ยางพาราและสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องต่อผู้ใช้ต่างประเทศว่าไม้ยางพาราเป็นไม้ที่มาจากการปลูก ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม (ECO-FRIENDLY WOOD)
- กำหนดมาตรฐานไม้ยางพาราแปรรูป และราคากลางไม้ยางพาราแปรรูป ของสมาคมธุรกิจไม้ยางพาราไทย เพื่อใช้ในการซื้อ-ขายไม้ยางพาราแปรรูป
- เข้าร่วมเป็นสมาชิกสมาพันธ์พัฒนาอุตสาหกรรมไม้ประเทศไทย ซึ่งเป็นศูนย์รวมขององค์กรที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมไม้ของประเทศไทย
- การร่วมดำเนินงานโครงการต่างๆ กับหน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชน ได้แก่
- โครงการใช้ประโยชน์ไม้ยางพาราและการตลาดแห่งประเทศไทย ร่วมกับ องค์กรป่าไม้เขตร้อน(ITTO) กรมป่าไม้ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมการส่งออกและสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องเรือนไทย ในปี พ.ศ. 2543 – 49 ในการจัดอบรม สัมมนา เผยแพร่ความรู้ทางวิชาการด้านการผลิตและการตลาด เป็นต้น
- โครงการเตรียมการรับรอง FSC เพื่อการส่งออก ร่วมกับกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง ในปี พ.ศ. 2543
- โครงการเสริมสร้างผู้ประกอบการใหม่แห่งชาติ (NNEC) และ โครงการเสริมสร้างผู้ประกอบการใหม่ (New Entrepreneur Creation :NEC) ร่วมกับ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ในปี พ.ศ. 2547-49
- โครงการ BEST PRACTICE อุตสาหกรรมไม้ยางพาราแปรรูปของไทย ร่วมกับ สำนักงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องเรือนไทย
- ร่วมกับส่วนอุตสาหกรรมเครื่องเรือนและคอมโพสิท สำนักพัฒนาอุตสาหกรรมรายสาขา กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ในการจัดอบรม สัมมนา ให้ความรู้ เผยแพร่ข้อมูล ประสบการณ์ด้านการผลิตแก่ผู้ประกอบการ
- ร่วมกับ กรมส่งเสริมการส่งออก ในการจัดสัมมนา จัดผู้เชี่ยวชาญให้คำปรึกษาแนะนำในด้านการตลาด เป็นต้น
- ร่วมผลักดัน ส่งเสริม สนับสนุนการตั้งชมรมผู้ประกอบการอุตสาหกรรมไม้ยางพาราในจังหวัดต่างๆในภาคใต้ ซึ่งได้มีการตั้งชมรม ดังนี้ ชมรมผู้ประกอบการอุตสาหกรรมไม้ยางพาราจังหวัดยะลา ตรัง สุราษฎร์ธานี สงขลาและนครศรีธรรมราช เป็นต้น
- จัดการอบรม หัวข้อต่างๆ ด้าน การผลิต การบริหาร การจัดการ ให้แก่บุคลากรในทุกระดับ โดยการเชิญวิทยากรและผู้เชี่ยวชาญทั้งในประเทศและต่างประเทศ ได้แก่ หัวข้อเรื่อ เทคนิคการลับคมใบเลื่อย การเลื่อย การอบไม้ การทำสีไม้ การจัดการอุตสาหกรรมไม้ยางพารา ความรู้เกี่ยวกับ Benchmarking เป็นต้น
- จัดการประชุม สัมมนา เสวนา ร่วมกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ในการที่จะนำมาซึ่งการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพ ขีดความสามารถให้แก่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมไม้ยางพาราอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ เรื่อง อุตสาหกรรมไม้ยางพารา ทางสู้วิกฤตอุตสาหกรรมเครื่องเรือนและผลิตภัณฑ์ไม้ ยุทธศาสตร์การพัฒนาไม้ยางพารา ฯลฯ
- ส่งผู้แทนร่วมศึกษาดูงานด้านต่างๆที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมไม้และผลิตภัณฑ์ ณ ประเทศฟินแลนด์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ประเทศมาเลเซีย
- ให้การสนับสนุน และมีส่วนร่วมในการวิจัย ของหน่วยงานต่าง ๆ ได้แก่ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ธนาคารแห่งประเทศไทย มหาวิทยาลัยต่างๆ เป็นต้น
จากอดีต ถึงปัจจุบัน จากปี พ.ศ. 2539 -2549 นับเวลารวม 10 ปี ที่ได้มีการก่อตั้งสมาคมธุรกิจไม้ยางพาราขึ้นมา จากผลงานที่ผ่านมาคงเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงการเติบโต และการพัฒนาของสมาคมฯ ซึ่งถึงแม้จะเป็นองค์กรเอกชนองค์กรหนึ่งที่มีอายุไม่มากนักเมือเทียบกับองค์กรอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมไม้ยางพาราของประเทศไทย ที่สามารถสร้างประโยชน์และก่อให้เกิดมูลค่าให้แก่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องและประเทศชาติ เหมือนดั่ง ต้นกล้ายางพาราที่เติบโตเป็นต้นยางและก่อให้เกิดผลผลิตที่สามารถสร้างมูลค่าแก่เจ้าของและเศรษฐกิจของประเทศ ได้ดั่งนั้น |